ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย (ดูภาพด้านล่าง)
งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มีบันทึกเป็นหลักฐานในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ที่กล่าวถึง “ เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” และกล่าวถึงการเผาเทียน เล่นไฟ ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่เมื่อ 700 กว่าปีก่อน จึงสันนิษฐานกันว่าเป็นการเผาเทียน เล่นไฟ เกิดขึ้นในงานลอยกระทงนั่นเอง
ในปี 2520 กรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมมือกันจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟขึ้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ต่อไป โดยเลียนแบบบรรยากาศ 700 ปีก่อน และมุ่งให้จัดเป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ของจังหวัดสุโขทัยนั้น จัดเป็นงานลอยกระทงที่มีชื่อเสียงมากของประเทศไทย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศได้เข้ามาร่วมกิจกรรม
ปัจจุบันได้มีการพัฒนากิจกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไปชมมาเมื่อปีที่แล้ว จะมีการจัดกิจกรรมภายในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นการจำลองวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยสุโขทัย เช่นการทำหัตถกรรม การทำการเกษตร เหล่าเด็ก ๆ ก็มีการละเล่นต่าง ๆ ทำขนม และมีการจำหน่ายออกร้าน มีการแสดงตามเวทีต่าง ๆ เช่น
-การร้องรำทำเพลง การประกวดกระทง
-การประกวดโคมชัก โคมแขวน ที่ทางทีมงานได้ชมแล้วรู้สึกถึงความละเอียด และวิจิตรบรรจงของชิ้นงานมาก ๆ แบบอึ้ง และทึ่งในฝีมือคนทำ (ที่มาของชื่อโคมชัก โคมแขวน เนื่องจาก โคม หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ที่ให้แสงสว่างแทนตะเกียงในงานบุญโดยใช้เทียนหรือตะคันวางไว้ข้างใน ครอบไม่ให้ไฟดับและใช้ผูกอยู่กับยอดเสาหรือที่สูงและสามารถเคลื่อนไหวตามแรงลมได้ จะชักหรือดึงลงมาเพื่อเติมเชื้อเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อโคมชัก โคมแขวน)
การประดิษฐ์โคมชัก โคมแขวน ทำขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงใช้ฝีมือและความวิจิตรบรรจงในการประดิษฐ์ บางครั้งใช้เวลา 2-3 เดือนในการเรียงร้อยเมล็ดพืชเม็ดเล็ก ๆ ต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดมะกล่ำตาหนู, ข้าวฟ่างสีส้ม ขาว ดำ เหลือง, ข้าวเปลือกนก, งาขาว ดำ แดง เทา , ถั่วเขียว, เข็มหมุด, เมล็ดผักกาด, เมล็ดข้าวเหนียว, ดอกบานไม่รู้โรย, เมล็ดผักชีราเปลือกไข่, เปลือกไหม, ใบลานดอกตะแบก, ดอกบานไม่รู้โรย, ทราย, เชือกผักตบชวา, ไหมญี่ปุ่น, ดวงไฟ, กระดาษแข็ง , ไม้ไผ่, ไม้อัด, กระดาษสา, เชือก, เส้นด้าย, และอื่น ๆ มาจัดตกแต่งเป็นโคมอันสวยงามและมีความหมายที่เป็นมงคล (ขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับโคมชัก โคมแขวน จาก ททท.)
-การประกวดนางนพมาศ และขบวนแห่ต่าง ๆ มีการประดับประดาไฟตามโบราณสถาน เป็นต้น
|
บรรยากาศงานลอยกระทง และการแสดงย้อนยุคในสมัยสุโขทัย |
|
นางรำ กระทง และเด็ก ๆ กำลังง่วนอยู่กับการโม่แป้ง |
|
เวทีการแสดงต่าง ๆ ภายในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ |
|
งานออกร้านจำหน่ายสินค้าตามซุ้มต่าง ๆ |
เมื่อเข้าสู่ช่วงค่ำไฟที่ประดับประดา ตามโบราณสถานต่าง ๆ เริ่มติดให้ความสว่างไสว และส่งเสริมให้โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ดูสวยงาม และมีรับประทานขันโตก ชมการแสดงพื้นบ้านระหว่างการรับประทาน (ค่าบัตรเข้าชมการแสดงแสงสีเสียง และรับประทานขันโตก ท่านละ 600 บาท) หลังจากรับประทานขันโตกกันเรียบร้อย การแสดงแสง สี เสียง จำลองเมืองสุโขทัยในอดีตก็เริ่มขึ้น เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของกรุงสุโขทัย ผ่านข้าศึกสงคราม เรื่อย ๆ มาจนถึงการเริ่มต้นของประเพณีการลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ผ่านนักแสดงมากกว่าร้อยชีวิต และระบบเสียงที่สั่นสะเทือนอารมณ์ มีการปล่อยโคมลอย และจุดพลุ ดอกไม้ไฟ ต่าง ๆ อย่างงดงาม จบการแสดงตามเวทีต่าง ๆ ยังมีการแสดงอื่น ๆ ให้ชม เช่นโขน เป็นต้น
สถานที่จัดงาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ปีนี้จัดงานในวันที่ 29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2552
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 1672 หรือ ททท. สุโขทัย 055-611196
|
โคมชัก โคมแขวน เพื่อบวงสรวงต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช |
|
บรรยากาศภายในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ และกระทงยักษ์ |
|
การแสดงโขน(ภาพซ้ายสุด ขวาสุด)และการแสดง แสง สี เสียง |
|
การแสดง แสง สีเสียง ที่งดงาม และโคมลอยที่ค่อย ๆ ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
ในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ |
|
แสง สี ยามค่ำคืนในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
|
หลากหลายมุมมองในยามคำ่คืน กลางอุทยานประวัติศาสตร์ |
|
ความมืดไม่อาจบดบังความงดงามของโบราณสถานที่มีมาแต่อดีตได้ |
|